ปฏิทิน

คนตรงเวลา

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดยโสธร

           จากพงศาวดารเมืองยโสธร ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2340 พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทร์ กับสมัครพรรคพวก เดินทางอพยพจะไปอาศัยอยู่กับนครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึง ดงผีสิง เห็นเป็นทำเลดี จึงได้ตั้งหลักฐานและสร้างเมืองที่นี่ เรียกว่า "บ้านสิงห์ท่า" หรือ "เมืองสิงห์ท่า" ต่อมาใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ขึ้นเป็น "เมืองยโสธร" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีเจ้าเมืองดำรงบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรราชวงศา
          ในปี พ.ศ. 2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ได้แยกอำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515
การเดินทาง
          ทางรถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี จึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ไปทางอำเภอพิมาย ผ่านอำเภอหนองสองห้อง และอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แล้วจึงแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอธวัชบุรี อำเภอเสลภูมิ แล้วจึงถึงจังหวัดยโสธร รวมระยะทางประมาณ 531 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง
          รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทุกวัน
          สำหรับผู้โดยสารโดยรถไฟ หรือเครื่องบิน จะต้องลงที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วต่อรถยนต์มาลงที่ยโสธรอีก 99 กิโลเมตร
สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว
สวนสาธารณะพญาแถน
         ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ภายในสวนพญาแถนมีลำน้ำเล็กๆ คดเคี้ยวล้อมรอบบริเวณโดยรอบประกอบด้วยสวนไม้ดอก ไม้ประดับ สังคีตศาลา สนามเด็กเล่น และสวนสุขภาพ เทศบาลกำหนดให้สวนพญาแถนเป็นสถานที่จัดงานบั้งไฟประจำปี
วัดมหาธาตุ
         ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมือง โบราณสถานที่สำคัญในวัดคือ พระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธร ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก
พระธาตุยโสธร
        หรือพระธาตุอานนท์ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ เป็นพระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ สร้างราว พ.ศ. 2321 โดยท้าวหน้า ท้าวคำสิงห์ ท้าวคำผา ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีเก่าของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ต่อมาได้อพยพผู้คนภายใต้การนำของพระวอ พระตา ราว พ.ศ. 2313-2319  ลักษณะพระธาตุ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ส่วนยอดธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบ มี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อย
หอไตร
          เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานของวัด ตั้งอยู่ตรงกลางสระทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคา บริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ซึ่งนำมาจาก เวียงจันทน์ ซุ้มประตูและบานประตูไม้สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม การตกแต่งฝาผนังมีลวดลาย ซึ่งเป็นลักษณะผสมแบบภาคกลาง สร้างขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระธาตุก่องข้าวน้อย
          เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบ บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ
ภูถ้ำพระ
         ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านกุดแห่ มีพระพุทธรูปอยู่ในถ้ำจำนวนมาก ถ้ำพระนี้เป็นถ้ำใหญ่กว้าง ตั้งอยู่ชะง่อนภูด้านทิศใต้ มีทางเข้าไปตามซอกหินเป็นอุโมงค์ จากปากถ้ำเลยไปทางทิศเหนือสามารถเดินลอดไปได้
พระพุทธรูปใหญ่
        เป็นพระประธานในอุโบสถวัดสงเปือย   เป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยอิฐ ปูน มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี เป็นที่สักการะของประชาชนในท้องถิ่น
เจดีย์บรรจุดินจากสังเวชนียสถาน
        เดิมเป็นเจดีย์เก่า อายุประมาณ 200 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ. 2498 ได้ต่อเติมขึ้นใหม่ โดยเงินทุนของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พระปลัดเขียน อัมมาพันธ์ นำดินจากสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน จากประเทศอินเดียมาบรรจุไว้
ซากเมืองโบราณดงเมืองเตย
          อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านสงเปือย ภายในบริเวณดงเมืองเตยมีซากวัด สระน้ำ กำแพงเมือง ซึ่งปัจจุบันได้ชำรุดลงไปมากแล้ว แต่ยังมีเค้าโครงเดิมพอจะสันนิษฐานได้ว่าเดิม เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณสมัยเจนละ ทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะ
กู่จาน
         ตั้งอยู่ที่บ้านงิ้ว เป็นเจดีย์เก่าเจดีย์หนึ่งในจังหวัด มีลักษณะคล้าย ๆ กับพระธาตุพนม มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พระพุทธบาทยโสธร
          ตั้งอยู่ที่วัดพระพุทธบาทยโสธร   ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเป็นเนินทรายขาวสูงงอกขึ้นกลางพื้นที่ลุ่มน้ำชีนับเป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าของจังหวัด บริเวณเดียวกันนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปปางนาคปรก (ศิลาแลง) 1 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก และหลักศิลาจารึกทำด้วยศิลาแลง 1 หลัก สูง 1 เมตร กว้าง 50 เซ็นติเมตร มีตัวหนังสือโบราณบันทึกไว้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 3 อย่างนี้ พระมหาอุตตปัญญาและสิทธิวิหาริก ได้นำมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1378
หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์
            ตั้งอยู่ที่วัดสระไตรนุรักษ์ เป็นหอไตรเก่าแก่อยู่กลางสระน้ำ สร้างมาประมาณร้อยกว่าปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าหรือไทยใหญ่ เป็นอาคารไม้ หลังคามุมสังกะสี มีชายคายื่นทั้ง 4 ทิศ หลังคามี 4 ชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไปมีประตูด้านหน้า 1 ช่อง บานประตูแกะสลักลวดลายสวยงาม ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกแต่มาโบราณ 


ที่มา:http://www.guideubon.com/yasothon.php
       http://www.baanjomyut.com/76province/northeast/yasothon/travel.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น