ปฏิทิน

คนตรงเวลา

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระธาตุเจดีย์ประจำวันเกิด

การสักการะพระธาตุประจำวันเกิด
         พุทธศาสนิกชนสั่งสมความเชื่อสืบต่อกันมาช้านานว่า การไหว้สักการะพระธาตุอันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์นั้น จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ อีกทั้งอานิสงส์ผลบุญที่ได้จากการกราบไหว้บูชา และสร้างกุศลกับพระธาตุนั้น เชื่อว่าแรงนัก หากผู้ใดปฏิบัติบูชาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ และหมั่นกราบไหว้บูชาตามกำลังความสามารถทุกครั้ง

การไหว้พระธาตุถือเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพราะการบูชาพระธาตุ อันเป็นสถานที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญมาสู่ผู้ที่บูชา รวมทั้งอานิสงส์ ผลบุญที่ได้จากการกราบไหว้บูชา ยิ่งหากใครบูชาด้วยจิตใจศรัทธาอันบริสุทธิ์ และหมั่นกราบไหว้เมื่อมีโอกาส อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุ จะดลบันดาลให้เกิดสิริมงคลในชีวิตแก่ตัวผู้บูชา
ประวัติความเป็นมาของการบูชาพระธาตุ
        ความเชื่อแห่งการบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุนั้น สืบทอดของชาวล้านนาเมื่อ ๗๐๐ ปีก่อน ให้ไหว้ พระธาตุประจำปีเกิด สังเกตได้ว่าพระธาตุประจำปีเกิด จะประดิษฐานอยู่ในจังหวัดภาคเหนือเป็นสำคัญ มีเพียง พระธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีวอกเท่านั้น ที่ประดิษฐานในภาคอีสาน
        สอดคล้องในตำนานพุทธประวัติ บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า สมัยหนึ่งเป็นปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธองค์ได้เสด็จ มาทางอากาศ มาลงที่ดอนกอนนาก่อน แล้วเสด็จไปเวียงจันทน์ ทำนายว่าจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ที่ตั้ง พระพุทธศาสนา หลังจากนั้นมาพักแรม ที่ภูกำพร้า (สถานที่ที่มีทำเลที่ตั้งเป็นโคกสูง อยู่ใน แผ่นดินของอาณาจักร ศรีโคตบูร) ๑ ราตรี รุ่งเช้าเสด็จข้ามไปบิณฑบาต ที่เมืองศรีโคตบูร แล้วกลับมาภัตกิจที่ภูกำพร้าทางอากาศ อีกขณะนั้นพญาอินทร์ เสด็จมาเฝ้าและทูลถามถึงเหตุที่ประทับภูกำพร้า เพื่อเหตุอะไร พระองค์ทรงพยากรณ์ว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ องค์ ในภัททกัลป์ นี้คือ กกุสันธะ, โกนาคมนะ, กัสสปะ ที่นิพพานไปแล้วสาวก ทั้งหลายนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ภูกำพร้า เมื่อเรานิพพานไปแล้ว กัสสปะผู้เป็นสาวกก็จะนำพระธาตุ มาบรรจุเช่นเดียวกัน
        ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานเกิดเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น มัลลกษัตริย์ทั้งหลายถวายพระเพลิงไม่สำเร็จ จนมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวกมาถึง แล้วอธิษฐานว่าพระธาตุองค์ใดที่จะให้ข้าพระบาทนำประดิษฐ์ไว้ที่ภูกำพร้า องค์นั้นเสด็จมาที่ฝ่ามือบัดนี้ ดังนี้แล้วพระบรมอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ก็เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือของท่าน ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกโชติช่วงเผาพระบรมสรีระเอง เป็นที่อัศจรรย์
        หลังจากนั้น พระมหากัสสปะได้ร่วมกับผู้ครองเมืองต่าง ๆ โดยรอบภูกำพร้า สร้างพระธาตุพนม ด้วยศรัทธา และอุตสาหะ เพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ จนเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่ จังหวัดนครพนม มาจนถึงปัจจุบัน
พระธาตุประจำวันเกิด
        ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพงศาวดารเหนือและคำให้การของชาวกรุงเก่าเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ของภาคอีสาน กล่าวไว้ว่า ณ ที่ใดที่เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุหลัก บริเวณรายล้อมจะมีเกิดพระธาตุบริวารขึ้น เชื่อว่าเป็นพระธาตุที่แตกตัว มาจากพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระอรหันต์ และสาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีเทวดานพเคราะห์ประจำวัน คอยปกปักรักษา
        จังหวัดนครพนมนอกจากมีพระธาตุพนมเป็นหลักแล้ว อำเภอรอบนอกยังมีพระธาตุบริวารอยู่ทั่ว เห็นได้ว่าทั้ง ๑๐ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอของที่นี่มีพระธาตุประดิษฐานตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา และยังพบว่าชัยภูมิหรือ ลักษณะของบริวาร สอดคล้องกับนิสัยและทิศประจำวันของเทวดานพเคราะห์ ทั้ง ๗ อย่างน่าอัศจรรย์ บัญญัติความเชื่อเกี่ยวกับการสักการะ พระธาตุประจำวันเกิดที่มีครบทั้ง ๗ วัน จึง มีอยู่ที่เดียวใน จังหวัดนครพนม
การบูชาพระธาตุตามวันเกิด
        อาจารย์คฑา ชินบัญชร นักโหราศาสตร์ และในฐานะผู้ศึกษาอานิสงส์ของการบูชาพระธาตุอย่างจริงจัง กล่าวว่า การบูชา พระธาตุตรงตามวันเกิด ของผู้นั้น คล้ายกับการส่งสารโดยถึงเทพที่ปกปักรักษาตัวเอง การขอพรจะ สัมฤทธิ์และรวดเร็วขึ้น หากมีศรัทธาและประกอบกรรมดีควบคู่กันไป
        เป็นที่น่าสังเกตว่าในตำนานของพระธาตุนั้นได้สอดแทรกการเผยแผ่พระ พุทธศาสนา การกล่าวถึง คุณงามความดีของ องค์พระพุทธเจ้า และเทวดาสาวกผู้คุ้มครองดูแลรวมทั้งกล่าวอานิสงส์กราบไว้ แต่ มองอีกด้านแล้วเป็นวิธีแยบยลของคน โบราณเมื่อเรากราบไหว้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ แน่นอนเจดีย์ต่าง ก็สถิตก็วัด พุทธศาสนิกชนก็ต้องเข้าวัดเป็นโอกาสดีให้ทำนุ บำรุงศาสนาไปด้วย และได้ฟังเทศน์จากพระสงฆ์ ซึ่งเป็นสาวกของ พระพุทธเจ้าด้วย อาจจะกล่าวว่าเป็นเทคนิคของการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาให้ลุล่วงต่อไป
        แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า หากสักการะด้วย ศรัทธาและจิตใจบริสุทธิ์อานิสงส์ของกราบไหว้จะทำให้ผู้นั้นมีจิตใจ ที่เป็นสุขเกิดขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องรอ คอยพรจากเทวดานพเคราะห์ทั้งหลายส่งมาให้
        การไหว้พระธาตุแต่ละแห่งนอกจากคำนมัสการที่เป็นบาลีแล้ว จะต้องมีสิ่งของบูชาพระธาตุ อันประกอบด้วย ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้ ผ้าสี (ประจำวันเกิด) และท่องคาถาประจำวันเกิดเวียน ๓ รอบพระธาตุ ส่วนผู้ที่เกิดวันนั้นให้ สวดคาถามากจบตามจำนวนธูปที่จุดบูชา ณ พระธาตุประจำวันเกิด เชื่อว่าจะส่งแรงอธิษฐาน ไปถึงเทวดาผู้คุ้มครองได้เร็วขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่ได้เกิดตามวันนั้นหากกราบไหว้เชื่อว่าจะได้สิ่งที่ดีจากเทวดา นพเคราะห์องค์นั้น ๆ กลับมา
พระธาตุประจำวันเกิด                      ประวัติ ที่ตั้ง การบูชา และคาถา

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น