จังหวัดยโสธรมีเนื้อที่ 4,161 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตอีสานตอนล่าง เป็นที่ราบสูงมีดินปนทราย ทางทิศเหนือมีภูเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน พืชสำคัญๆ ที่ปลูก เช่น ข้าว ปอ มันสำปะหลัง สามารถทำได้เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ในฤดูแล้งมีความแห้งแล้งมาก อากาศร้อนจัด ในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด สามารเพาะปลูกพืชผักสวนครัวได้ดี สภาพของป่าเหลือน้อย มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกเป็นที่ราบเหมาะสำหรับเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ทางทิศใต้เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา มีแม่น้ำชีไหลผ่าน เป็นระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร
จากพงศาวดารเมืองยโสธรได้บันทึกไว้ว่า เมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2340 พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์ กับสมัครพรรคพวกเดินทางอพยพจะไปอาศัยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึงดงผีสิงห์เห็นเป็นทำเลดี จึงได้ตั้งหลักฐานและสร้างเมืองที่นี่เรียกว่า "บ้านสิงห์ท่า" หรือ "เมืองสิงห์ท่า" ต่อมาใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ขึ้นเป็น "เมืองยโสธร" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีเจ้าเมืองดำรงบรรดาศักดิ์ เป็นพระสุนทรราชวงศา
ในปี พ.ศ. 2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ได้แยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515
อาณาเขตติดต่อและการปกครอง :
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด
ปัจจุบันจังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา อำเภอกุดชุม อำเภอค้อวัง และอำเภอทรายมูล
ระยะทางระหว่างอำเภอเมืองไปอำเภอต่างๆ
อำเภอเมือง-อำเภอคำเขื่อนแก้ว 23 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอมหาชนะชัย 41 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอค้อวัง 70 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอป่าคิ้ว 28 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเลิงนกทา 69 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอกุดชุม 37 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอทรายมูล 18 กิโลเมตร
ที่มา:http://www.baanmaha.com/community/thread7283.html